การปลูกกระดูก รากฟันเทียม คืออะไร ?

การปลูกกระดูกรากฟันเทียม เป็นวิธีการเสริมหรือเติมกระดูกบริเวณขากรรไกร เพื่อให้กระดูกมีขนาดที่เพียงพอที่จะรองรับรากฟันเทียม โดยมักทำในคนไข้ที่สูญเสียฟันแท้ แล้วเกิดการสลายของกระดูก ทำให้ไม่มีกระดูกเพียงพอที่จะรับรากฟันเทียม

ทำไมต้องปลูกกระดูกรากฟันเทียม ?

จากหลักการทำงานของรากฟันเทียมที่จะยึดกับกระดูกเพื่อเป็นหลักในการยึดฟันปลอมชนิดต่างๆ

คนไข้ที่สูญเสียกระดูกไป ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียจากการติดเชื้อ สูญเสียตามวัย หรือถอนฟันไปเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสลายของกระดูก จะทำให้ไม่มีกระดูกที่เพียงพอที่จะช่วยยึดรากฟันเทียม ดังนั้นจึงต้องปลูกกระดูก เพื่อเตรียมขากรรไกรให้พร้อมที่จะรองรับรากฟันเทียม เพื่อให้ผลการรักษารากฟันเทียมประสบผลสำเร็จ

ใครสมควรต้องปลูกกระดูกรากฟันเทียม

  • ผู้ที่กระดูกขากรรไกรบาง
  • ผู้สูงวัยที่มีภาวะกระดูกสลายไปตามวัย
  • ผู้ที่ถอนฟันหรือสูญเสียฟันไปแล้วปล่อยไว้นานจนกระดูกรอบตัวฟันสลาย
  • ผู้ที่มวลกระดูกน้อย
  • ผู้ที่มีกระดูกขากรรไกรอยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสมในการปลูกรากฟันเทียม
  • ผู้ที่มีตำแหน่งของขากรรไกรที่มีการติดเชื้อเป็นหนองจากฟันก่อนการถอนฟัน

วัสดุที่ใช้ปลูกกระดูก รากฟันเทียม

การปลูกกระดูกรากฟันเทียม สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการใช้กระดูกจากร่างกายของผู้ป่วยเอง ในบริเวณที่มีมาก มาปลูกถ่ายใส่ในบริเวณที่ต้องการใส่รากฟันเทียม หรือการใช้วัสดุทดแทนกระดูก ได้แก่ กระดูกเทียมร่วมกับเมมเบรนช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างกระดูก หรือที่เรียกว่า Guided bone regeneration

กระดูกรากฟันเทียม ทำจากอะไร เอามาจากไหน

คนไข้หลายคนจะกลัวการปลูกกระดูกรากฟันเทียม เนื่องจากกลัวว่าจะต้องเข้าห้องผ่าตัดใหญ่และนำกระดูกมาจากบริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น สะโพก ซี่โครง กระโหลกศรีษะ

แต่จริงๆแล้วกระดูกที่ปลูก ในการทำรากฟันเทียมทั่วไป จะใช้กระดูกจากแหล่งต่างๆดังนี้

  • Autograft คือกระดูกของคนไข้เอง ส่วนมากจะใช้กระดูกจากในช่องปาก เช่นจากสันกระดูกบริเวณกรามใกล้บริเวณฟันคุด ข้อดีคือ กระดูกจากร่างกายคนไข้เองเป็นกระดูกที่ดีที่สุด เนื่องจากมีเซลล์ในการสร้างกระดูกปริมาณมาก และไม่ค่อยพบการปฏิเสธของกระดูกที่ปลูกถ่าย แต่ข้อเสียคือคนไข้จะมีแผลเพิ่มขึ้นอีกบริเวณ
  • Allograft คือ กระดูกจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน คือ กระดูกที่ได้จากผู้บริจาค
  • Xenograft คือ กระดูกที่ได้จากสัตว์ต่างสปีชีส์ เช่น กระดูกม้า กระดูกวัว กระดูกหมู
  • Synthetic bone graft คือ กระดูกสังเคราะห์

ปัจจุบันมีกระดูกหลายชนิด หลายบริษัท  โดยบริษัทที่มีงานวิจัยรองรับเป็นระยะเวลานาน มีผลการรักษาที่ได้รับการรับรองจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามก็จะตามมาด้วยราคาค่ารักษาที่สูงกว่า

หมอแนะนำว่า กระดูกมีผลต่อผลความสำเร็จในการรักษารากฟันเทียมเป็นอย่างมาก ดังนั้น ต้องเลือกกระดูกที่ดี เทคนิคเหมาะสม ทันตแพทย์มีประสบการณ์และชำนาญก็จะให้ผลการปลูกกระดูกรากฟันเทียมที่ดีค่ะ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการปลูกกระดูก

การต้องการปลูกกระดูก รากฟันเทียม เพื่อให้มีที่อยู่สำหรับรากฟันเทียม นั้น ทำได้หลายวิธี โดยมีปัจจัยต่างๆดังนี้

  • บริเวณที่ต้องการฝังรากฟันเทียม
  • ประวัติโรคประจำตัวของผู้ป่วย
  • ความชำนาญของทันตแพทย์
  • วัสดุที่เลือกใช้ในการปลูกกระดูก

โดยบางเทคนิคอาจจะเลือกวัสดุหลายชนิด บางเทคนิคอาจจะใช้วัสดุชนิดเดียว ทันตแพทย์รากฟันเทียมที่มีประสบการณ์จะสามารถเลือกเทคนิคการรักษาที่เหมาะกับคนไข้ได้ดีที่สุดค่ะ

ขั้นตอนการปลูกกระดูกรากฟันเทียมมีดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจช่องปากและประเมินการรักษาอย่างละเอียด
  2. กรณีใช้กระดูกของคนไข้ แพทย์จะตัดกระดูกของคนไข้จากส่วนอื่นของร่างกายมาปลูกถ่ายบริเวณกระดูกขากรรไกรตรงกับตำแหน่งที่มีปัญหา
  3. กรณีใช้วัสดุทดแทนปลูกถ่ายกระดูกแบบพิเศษ จะไม่มีขั้นตอนการผ่าตัดหรือบาดแผลผ่าตัดบริเวณอื่น นำวัสดุมาปลูกถ่ายได้ทันที
  4. หลังจากปลูกถ่ายกระดูก ต้องใช้เวลารอคอยให้กระดูกพัฒนาจนเพียงพอในการรับการฝังรากเทียมได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือน หรือบางกรณีสามารถปลูกกระดูกพร้อมฝังรากเทียมไปพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา
  5. เมื่อกระดูกหนาแน่นเพียงพอ แพทย์จะนำอุปกรณ์รากเทียมที่มีลักษนะคล้ายสกรู ทำจากไทเทเนียมฝังลงบริเวณกระดูกขากรรไกร จากนั้นจึงจะใส่ส่วนของตัวยึดรากฟันเทียมกับครอบฟัน ( Abutment ) และครอบฟัน ( Crown ) หรือตัวฟันปลอมตามลำดับ